Custom Search

Apr 22, 2016

"บรรหาร ศิลปอาชา" ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 83 ปี ปิดตำนาน"มังกรสุพรรณ"





http://teetwo.blogspot.com/2012/04/blog-post_3799.html

ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงพยาบาลศิริราช ว่านายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว
เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 23 เมษายน 2559 หลังเข้ารับการรักษาตัวเนื่องจากอาการภูมิแพ้ หอบหืด กำเริบ
เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา รวมอายุได้ 83 ปี 8 เดือน และจะมีการเคลื่อนศพไปวัดเทพศิรินทร์ในวันเดียวกัน
โดย นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จะเป็นผู้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป
บรรหาร ศิลปอาชา เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน
ของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊ 
สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา
และเป็นหญิง 2 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา
บรรหาร เข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ
ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. 2516 และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2518
ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2519 และ
ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายบรรหารได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง 
ต่อมานายบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2523 ในปี พ.ศ. 2537
นายบรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยปี พ.ศ. 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา
ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด
ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย
พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538
ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
นายบรรหารมีสมญานามมากมาย จากลักษณะเด่นหลายประการ เช่น
มีฐานเสียงหนาแน่นอย่างที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานะเป็นเจ้าถิ่นจนได้สมญาว่า "มังกรสุพรรณ"
หรือ "มังกรการเมือง" และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน
สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกนายบรรหารสั้น ๆ ว่า "เติ้ง" หรือ "เติ้งเสี่ยวหาร" 




อาลัยพญามังกรสุพรรณ! 10 เรื่อง บรรหาร ศิลปอาชา ที่คุณไม่เคยรู้ ไทยรัฐออนไลน์ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวศิลปอาชาอย่างสุดซึ้ง ถึงแม้ว่าท่านจะจากไปแล้ว แต่คุณงามความดี ความสามารถในหน้าที่การงาน รวมถึงเรื่องราวน่ารักในครอบครัว จะยังอยู่ในความทรงจำตลอด วันนี้เราจะพาไปดู 10 ข้อเรื่องราวดีๆ ของอดีตนายกฯ ท่านนี้กัน 1. นายบรรหาร ศิลปอาชา เกิดที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นบุตรของเตี่ยเซ่งกิม และแม่สายเอ่ง แซ่เบ๊ เจ้าของร้านขายผ้าย่งหยูฮง ในตลาดทรัพย์สิน ท่าพี่เลี้ยง 2. สมัยวัยรุ่นอายุเพียง 17 ปี บรรหาร หลีกหนีอาชีพเย็บผ้า เดินทางเข้าพระนครเพื่อไปทำงานกับพี่ชายย่านหลานหลวง ก่อนจากบ้านเกิดบรรหารไปบนเจ้าพ่อศาลหลักเมืองว่า หากลูกร่ำรวยจะกลับมาสร้างศาลให้ใหญ่โต พอถึงพระนครได้ทำงานด้านก่อสร้าง ระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาเล่าเรียนด้านการบัญชีไปด้วย 3. ต่อมาได้ต่อยอดการทำงาน สร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง ก่อตั้งบริษัท สหะศรีชัยก่อสร้าง (รับเหมาก่อสร้าง) ที่ตึกแถวหลานหลวง ทำงานอยู่สักพักจนก่อร่างสร้างตัวได้ จึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่ จ.สุพรรณบุรี และได้สมรสกับภรรยาชื่อ 'แจ่มใส' สาวในตลาดเดียวกันที่บรรหารแอบชอบมานาน 4. หลังแต่งงาน กิจการก่อสร้างของบรรหารเจริญรุ่งเรือง และแจ่มใสได้ให้กำเนิดลูกคนแรกคือ หนูนา ต่อมาได้ซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิตราคา 4 หมื่นบาท ซึ่งตนภูมิใจมาก ปัจจุบันมีทายาท 3 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา, น.ส.ปาริชาต ศิลปอาชา และนายวราวุธ ศิลปอาชา 5. ต่อมาเริ่มเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี บรรหารหาเสียงสมัยแรก ต้องวงเล็บ "แจ่มใส" ไว้ท้ายนามสกุล เพราะคนสุพรรณฯสมัยนั้นรู้จักท่านในนาม บรรหาร แจ่มใส ต่อมาปี 2519 สมัคร ส.ส.สมัยแรก บรรหารได้คะแนนอันดับ 1 ของประเทศ ปี 2516 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา แล้วเริ่มก่อตั้งพรรคชาติไทยกับ พล.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ถึง 8 สมัย 6. ระหว่างที่ทำงานด้านการเมือง นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้ปฏิรูปการเมืองไทย ทำให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2539-2540 พร้อมกับใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ดีที่สุด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่นิยมคนเล่นพรรคเล่นพวก 7. สมัยบรรหารหนุ่มๆ มักจะเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้เรือเมล์แดง หรือทางรถก็อ้อมไปนครปฐม ถ.มาลัยแมน พอเขาเป็น รมต.จึงตัดถนนตลิ่งชัน-สุพรรณ ชั่วชีวิตของบรรหารยึดแม่เป็นครู แม่ละเอียดกับทุกชิ้นงาน รอบคอบ อดทน ตระหนี่ทั้งเวลาและเงินทอง 8. บรรหารในวัย 36 ฐานะการงานมั่นคง ได้สร้างโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ณ อ.ดอนเจดีย์ แล้วก็สร้างแห่งอื่นๆ เพิ่มอีก 4 แห่ง รวมเป็น 5 แห่ง ชาวสุพรรณฯรู้จักบรรหารในฐานะ เป็นคนใจบุญสุนทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล วัด ศาลเจ้า แต่ไม่เคยเห็นตัวจริง 9. ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร หรือ อุทยานมังกรสวรรค์ เริ่มออกแบบและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรขึ้น ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของชาวจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์และอารยธรรมจีน เพื่อเป็นอนุสรณ์สัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบ 20 ปีใน พ.ศ. 2539 10. ลีกไทยทุกคู่ที่จะลงเตะในวันที่ 23-24 เม.ย.นี้ เตรียมยืนไว้อาลัยสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อเป็นเกียรติให้บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 เป็นเวลา 1 นาทีก่อนทำการแข่งขัน สุดท้าย มณฑ์ลัชชา สกุลไทย หรือ 'แม่อุ๊ สกุลไทย' ไฮโซชื่อดัง เจ้าของฉายา ซุปเปอร์พาวเวอร์เมืองไทย บอกกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ท่านบรรหารเป็นเจ้านายของตนโดยทำงานเป็นเสมือนเลขาพยามังกรสุพรรณมา 37 ปี และในวาระสุดท้ายก็ได้ไปเฝ้าที่โรงพยาบาลทั้งวันกระทั่งจากไปอย่างสงบ "ก่อนท่านเข้าโรงพยาบาล ยังโทรมาสั่งงานเลย ท่านเรียกเราว่า ไอ้อุ๊ เรียกซะคนลืมชื่อจริงๆ ท่านใจดีมากๆ ชอบดูหนังกำลังภายใน และเพิ่งมาดูละครไม่นานมานี่เพราะหลานเล่น (พะเพื่อนลูกสาวแม่อุ๊) มักจะถามไถ่ โทรมาแสดงความคิดเห็นกับการแสดงของหลานเสมอๆ การจากไปครั้งนี้ไม่มีใครคาดคิดเพราะว่า ท่านรักษาสุขภาพมากๆ เป็นอะไรนิดหน่อยก็เข้าโรงพยาบาล ไม่คาดคิดว่าท่านจะจากพวกเราไปรวดเร็วแบบไม่ได้ตั้งตัว" "ท่านเป็นเจ้านาย เป็นทั้งอา เป็นผู้ใหญ่ใจดี ที่ดีที่สุด" แม่อุ๊กล่าวทิ้งท้าย ที่มาข้อมูลบางส่วน : หนังสือชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา ชีวิตและการพัฒนาบ้านเกิด โพสต์โดย แคน สาริกา เป็นหนังสือที่พรรคชาติไทยพิมพ์แจก โดยผู้เรียบเรียงคือ สัญลักษณ์ เทียมถนอม มือหนึ่งในการเขียนและเรียบเรียงประวัติบุคคลสำคัญ