Custom Search

Mar 5, 2010

งัดเศรษฐศาสตร์แนะทักษิณ


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนออนไลน์
วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2553


คนไทยที่รู้ร้อนรู้หนาวกำลังกังวลอย่างใจจดใจจ่อ
กับความแค้นของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ข้อมูลที่เห็นกันก็คือกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดง
สนับสนุนการกลับมาของอดีตนายกฯทักษิณอย่างเปิดเผย
และอย่าง "ลับ ลวง พราง" และต่างกำลังพยายามระดมผู้คน
จากทั่วประเทศเพื่อบีบให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
ในการตัดสินใจเดินหน้าครั้งนี้ของคุณทักษิณ
เศรษฐศาสตร์สามารถช่วยในการตัดสินใจ
ที่เหมาะสมสำหรับคุณทักษิณได้เป็นอย่างดี


บัดนี้เป็นที่ชัดเจนจากการยอมรับอย่างเปิดเผยจากทุกฝ่าย
และจากตัวคุณทักษิณเอง ว่าคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย
และคุณทักษิณ คือสิ่งเดียวกันทั้งหมด
โดยมีเป้าหมายคือการกลับมามีอำนาจอีกครั้ง
ผ่านการนิรโทษกรรมคดีทั้งหมดและการคืนทรัพย์สมบัติทั้งหมด
ที่ศาลพิพากษาให้ยึดเมื่อเร็วๆ นี้
ไม่ว่าข้ออ้างในการประท้วงคือเพื่อ "ล้มล้างอำมาตย์"
"เพื่อแก้ไขสอง "มาตรฐาน""
"เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืนมา" ฯลฯ
แต่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ก็เห็นชัดเจน
ว่าเป้าประสงค์ที่แท้จริงก็คือการช่วยเหลือคุณทักษิณอย่างเดียว


ความรู้เศรษฐศาสตร์ในเรื่องแรกที่จะช่วยในการตัดสินใจ
เดินหน้าของคุณทักษิณก็คือสิ่งที่เรียกว่า income effect (ผลจากรายได้)
อธิบายได้ง่ายๆ ก็คือเวลาเราถูกหวย เงินเดือนขึ้นสองขั้น
ได้รับมรดก ได้เงินก้อนใหญ่มา ฯลฯ จะรู้สึกว่าตนเอง "รวย" ขึ้น
เพราะจะสามารถจับจ่ายซื้อของหรือทรัพย์สินได้เพิ่มขึ้น
และมีทางโน้มที่จะใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น


ในทางตรงกันข้าม เมื่อสูญเสียเงินจะรู้สึกว่าตนเอง "จน" ลง
และมีพฤติกรรมที่จะใช้จ่ายเงินน้อยลง
หรือหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการสูญเสียเงินก้อนใหญ่

เงิน 4.6 หมื่นล้านบาทที่อยู่ในรูปธนบัตรใบละ 1,000 บาท
หากเอามาวางเป็นตั้งจะมีความสูงถึง 5.842 กิโลเมตร
หนัก 18.4 ตัน การสูญเสียเงินไปขนาดนี้ย่อม
ทำให้คุณทักษิณรู้สึก "จน" ลงอย่างแน่นอน
(ไม่ว่าจะมีเหลือสักกี่หมื่นล้านบาทก็ตาม)
ดังนั้น โอกาสที่ "ท่อน้ำเลี้ยง" จะไหลโจ๊ก
เพื่อสนับสนุนการชุมนุมอย่างเต็มที่เป็นไปได้น้อย
เพราะมนุษย์ทุกคนหลีกหนี income effect
ไม่พ้นเพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น


ประการที่สอง ปัญหา Principal-Agent
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
และบริหารธุรกิจ เป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น
การมี "ตัวแทน (agent)" ทำงานแทน
"ตัวการ (principal)" ไม่ว่าจะเป็นนายหน้า
ทนายความ "แกนนำสู้แล้วรวย"
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดูแลผลประโยชน์
กรรมการบริษัท ฯลฯ เกิดปัญหาขึ้นเสมอเพราะ "ตัวแทน"
มักจะปฏิบัติในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนเอง
มากกว่าผลประโยชน์ของ "ตัวการ"


ไม่ว่า "ตัวการ" จะพยายามออกแบบระบบจูงใจ
"ตัวแทน" ดีอย่างไร "ตัวการ" ก็จะประสบปัญหาเสมอ
ยิ่งผลประโยชน์ตอบแทนยิ่งสูง จำนวน "ตัวแทน"
ยิ่งมากและซับซ้อนในโครงสร้าง ยิ่งระยะทาง
และการควบคุมยิ่งห่าง ปัญหา Principal-Agent
จะยิ่งสูง ดังนั้น "ตัวการ" มีโอกาสสูญเสีย "ค่าจ้าง"
หรือผลประโยชน์สูงเนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์นั้น
ไม่ว่า "ตัวแทน" จะเป็น "คนดี"
อย่างไรก็อดมองไปที่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักไม่ได้


คุณทักษิณได้ประสบปัญหา Principal-Agent มาตลอด
จนน่าจะสูญเสียเงินทองไปมากมาย
ไม่ว่าจะออกแบบระบบจูงใจอย่างไรคุณทักษิณ
ไม่มีวันเอาชนะประเด็น Principal-Agent ตามหลักวิชาการไปได้เลย


ประการที่สาม นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์
และเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีเหตุมีผลเหมือนดังที่เคยเชื่อกันมา
ตัวอย่างแรกก็คือ "การเฮโลคิดกันไปตามฝูงชน
(herd mentality) ของมนุษย์ไม่ว่าในเรื่องหุ้น
เรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ การเห่อสินค้า
(black นะครับ ไม่ใช่ blueberry เหมือน blueberry cheese cake) ฯลฯ
มนุษย์ไม่ใช่ผู้ชอบวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแข็งขัน
ถ้าเชื่ออะไรสักอย่างแล้ว จะมีความสามารถอย่างยอดเยี่ยม
ในการโน้มน้าวใจตนเองให้เห็นว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นเป็นจริง


การตัดสินคดีว่าคุณทักษิณ "ซุกหุ้น"
ตลอดช่วงสองเวลาของการเป็นนายกรัฐมนตรี
(ผู้พิพากษาลงมติเป็นเอกฉันท์)
และประพฤติมิชอบใน 5 คดีโดยใช้อำนาจหาประโยชน์
ให้แก่ครอบครัวตนเองถือได้ว่าเป็นการสร้างความเสียหาย
อย่างใหญ่หลวงแก่ชาติในสายตาประชาชนทั่วไป
(ABAC โพลระบุว่าเกือบร้อยละ 60 เห็นว่าคุณทักษิณควรยอมรับคำตัดสิน
ซึ่งมีนัยว่าคนเหล่านี้เห็นว่าคุณทักษิณทุจริตจริง)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนต่างประเทศ
(ถ้าเป็นฝรั่งก็เรียกว่าการตัดสินครั้งนี้ damaging
สำหรับตัวคุณทักษิณอย่างยิ่ง)


เชื่อได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันโดยเฉพาะคนที่อยู่ตรงกลาง
หรือกลางแบบเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
บัดนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการ "เฮโลคิดไปตามฝูงชน"
กระแสประชาชนที่จะช่วยคุณทักษิณเข้าใจว่า
เหือดแห้งไปมากโดยสามารถใช้
ความเข้าใจมนุษย์ของเศรษฐศาสตร์มาช่วยอธิบาย


ประการที่สี่ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายว่า
สาเหตุที่มนุษย์ผิดพลาดก็เพราะการคิดเข้าข้างตนเอง
กล่าวคือมนุษย์นั้นเข้าใจ รับรู้รับทราบ รัก ชอบ
(อย่างที่นักจิตวิทยาเรียกว่า perception)
อย่างที่ตนเองเลือกที่จะรับรู้รับทราบ เข้าใจ เกลียด รักชอบ ฯลฯ
("ความรักทำให้ตาบอด" "ตัวเองดีที่สุด ถูกต้องเสมอ")
จนเกิดความเอนเอียงและมักตัดสินใจไปอย่างขาดสติ


คุณทักษิณก็อยู่ในสภาวการณ์เช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งโลก
กล่าวคือเลือกที่จะรับรู้รับทราบอย่างที่ใจตนเองต้องการ
ยิ่งอยู่ห่างบ้าน ห่างข้อมูล มีแต่ "ตัวแทน"
ซึ่งมีวัตถุประสงค์แห่งผลประโยชน์แตกต่างกันอยู่รายล้อม
แถมมีเงินและมีความเคียดแค้นเป็นเจ้าเรือน
การตัดสินใจของคุณทักษิณจึงน่าจะไม่อยู่
บนพื้นฐานของเหตุผลที่ใกล้โลกแห่งความเป็นจริงนัก


คนที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับคุณทักษิณจะมองเห็นว่าการ "ออกแรง"
บีบรัฐบาลครั้งนี้มีโอกาสประสบผลสำเร็จต่ำ
เพราะเชื่อว่า "การเฮโลคิดไปตามฝูงชน"
ได้เกิดขึ้นแล้วจากการที่ได้เห็นคำพิพากษา
ดังนั้น การอาศัยฝูงชนจึงทำได้ไม่ง่าย
แถมเศรษฐีแฟนคลับต้องช่วยควักกระเป๋า
ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแทนคุณทักษิณ
ที่ถูกฤทธิ์ income effect
ความไหลคล่องของน้ำเลี้ยงจึงน่าจะน้อยลงไป


สมมุติว่า "ออกแรง" ได้สำเร็จจนยุบสภา เลือกตั้งใหม่
กลุ่มคุณทักษิณได้มาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
คิดหรือว่ากฎหมายนิรโทษกรรมและ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ง่ายๆ
เมื่อครั้งตอนรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายซึ่งคุณทักษิณ "แข็งแกร่ง"
กว่านี้มากยังไม่สามารถทำได้
เหตุใดจะสามารถทำได้ในอนาคตซึ่งมี
ความไม่แน่นอนเป็นอันมากในการได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
(ซึ่งคุณทักษิณก็ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก
หากรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้รับการแก้ไข)
แค่หา "ตัวแทน" สักคนที่สังคมพอยอมรับได้
เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่จะถึงนี้ยังหาไม่ได้เลย

หากประมวลและประเมินประโยชน์ (benefit)
และต้นทุน (cost) ภายใต้การตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลแล้ว
สามารถใช้เศรษฐศาสตร์ช่วยตอบได้ว่า
คุณทักษิณควรทบทวนการ "ออกแรง" 12 มีนาคมนี้
เพราะ "เสีย" สูงกว่า "ได้" มาก การ "เสีย" นั้น
จะมีผลลามไปถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง
อีกมากมาย และหากมีผู้คนล้มตายจากการจลาจล
และคุณทักษิณตกเป็นจำเลยคนสำคัญของแผ่นดิน


ถ้าหยุดเสีย ทำใจให้ได้ และหาความสุขกับเงินที่มีอยู่อีก
นับหมื่นล้านบาทและกับครอบครัวในเวลาที่เหลือของชีวิต
และกับการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ อย่างจริงใจให้กับสังคมไทย
คุณทักษิณจะมีทั้งความสุขและจะพอมีที่พิเศษ
อยู่ในหัวใจของคนไทย และประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้อย่างเมตตา

คนมีเงินไม่ถึงหมื่นบาทยังมีความสุขได้
ความสงบในจิตใจได้ ทำไมคนมีเงินเป็นหมื่นล้านบาท
จึงหาความสุขในชีวิตไม่ได้
ทำไมคุณทักษิณไม่หาความสุขจากสิ่งที่มี
แทนที่จะมีความทุกข์กับอดีต และหวังว่าจะมี "ความสุข"
กับอนาคตอันแสนเลือนรางซึ่งสุดแสนสุ่มเสี่ยง
ต่อการก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของคนไทยด้วยกันเอง
ชื่อเสียงของตัวเองในประวัติศาสตร์และคนที่คุณทักษิณรัก