Custom Search

May 7, 2025

แก่แล้วจะไปอยู่ที่ไหน วางแผนไว้บ้างหรือยัง


  หมอแดง ที่ปรึกษาคนไข้ระยะท้าย

สังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมที่ต้องพึ่งพาตัวเองเมื่อแก่ตัวไป จะทำอย่างไร


คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรหลาน หรือญาติพี่น้องที่จะหวังพึ่งพิง ได้ติดต่อผมเข้ามาเพื่อปรึกษาและวางแผนสำหรับระยะท้าย

สำหรับคู่ชีวิตที่ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคู่ของตนคือการพลัดพราก แล้วคนที่เหลือจะอยู่อย่างไรหรือใครจะดูแลเมื่อถึงวันนั้น ก็โชคดีที่ได้วางแผนเตรียมตัวไว้

แต่คู่ชีวิตที่ไม่ตระหนักและไม่เตรียมตัว ท้ายที่สุดก็จะอ้างว้าง โดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้งให้จากไปตามลำพังอาจไม่มีใครรู้ หรือถูกญาตินำไปฝากไว้ที่ศูนย์(ไม่ต่างจากถูกทอดทิ้ง)

เมืองไทยยังดีมีวัด มีสำนักสงฆ์ มีสังคมที่คอยช่วยเหลือกันในยามแก่เฒ่า มีศูนย์ผู้สูงอายุต่างๆให้เราเข้าไปสอบถามรายละเอียด จะได้รู้ว่าศูนย์ไหนที่ถูกใจเรา

ศูนย์ส่วนใหญ่ไม่ยอมให้คนไข้จากลาในศูนย์ ดังนั้นไม่ต้องคิดเรื่องว่าจะตายดีในศูนย์ เพราะศูนย์เหล่านี้จะยื้อชีวิต เมื่อคนไข้อาการหนักดูแลไม่ไหวก็ส่งต่อโรงพยาบาลเพื่อยื้อต่อ ดังนั้นใครต้องการตายดีตายสบายตายแบบธรรมชาติ จึงเกิดขึ้นไม่ได้ในศูนย์เหล่านี้

ศูนย์ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริการผู้สูงอายุ ที่ลูกเต้าไม่สามารถดูแลเองได้ โดยศูนย์เหล่านี้มักไม่มีนโยบายเรื่องการตายดี

เมืองไทยครอบครัวเริ่มไม่เหมือนเดิมแล้ว ยังมีบางครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุกันเองจนเสียชีวิต บางครอบครัวถ้าผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ตัดจบโดยการเอาไปไว้ที่ศูนย์ (ทุกคนไม่นึกถึงใจของผู้สูงอายุที่ถูกส่งไป หรืออย่างน้อยลองนึกว่าตัวเองถูกส่งไปจะเป็นอย่างไร)

ขอย้ำ…คนที่รู้ตัวว่าลูกหลานคงไม่ดูแลตอนแก่เฒ่า หรืออยากเลือกสถานที่ๆถูกใจ ก็ควรวางแผนระยะท้าย

วัดป่าโนนสะอาดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งสถานที่ ที่เราควรเข้าไปศึกษา วัดนี้ท่านเจ้าอาวาส พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม มีนโยบายเรื่องการตายดีวิถีพุทธไว้รองรับ และช่วยเหลือแบบไม่มีค่าใช้จ่าย (สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดของวัดและบริจาคช่วยเหลือท่านได้ตาม qr code ในคอมเมนต์)

พระอาจารย์ได้ดูแลคนที่ต้องการจากลาแบบมีสติวิถีพุทธ แต่ทุกคนจะไปพึ่งท่านเมื่อถึงระยะท้ายท่านคงดูแลไม่ไหว ถ้าพวกเราไม่เขาไปช่วยเหลือท่านในขณะที่ยังมีแรงอยู่

ปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่วางแผน ก็จะเหมือนสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ลองอ่านดูครับ

❤️❤️❤️❤️❤️❤️❤️❤️❤️


นายฮิโรอากิ ชายวัย 54 ปี ได้ถูกพบเป็นศพในอพาร์ทเมนท์หลังจากเสียชีวิตมานานกว่า 4 เดือน รอบๆ ห้องเต็มไปด้วยกองขยะ ถ้วยบะหมี่สำเร็จรูป กระป๋องเครื่องดื่ม หนังสือพิมพ์เก่าๆ ก้นบุหรี่ และฟูกที่นอนอับๆ
.
นายฮิโรอากิซึ่งอดีตเป็นเคยวิศวกรทำงานบริษัทใหญ่ๆเช่น นิสสัน ฟูจิตสึ แต่เป็นเพียงพนักงานจ้างตามสัญญาทำให้ไม่มีเงินใช้ยามชรา เขาหย่ากับภรรยามาหลายปีจึงต้องอาศัยอยู่คนเดียวในอพาร์ทเมนท์เก่าๆ
.
ช่วงบั้นปลายชีวิต นายฮิโรอากิก็เป็นเหมือนอีกผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นอีกหลายคนที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย และตายจากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครรู้
.
นางอิโตะ อายุ 91 ปีอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์เก่าแก่ในชิบะ เธออาศัยอยู่ที่อพาร์ทเมนท์แห่งนี้มานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่สมัยอพาร์ทเมนท์นี้เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ และถือได้ว่าทันสมัยมากในยุคนั้น เธอเคยอยู่ร่วมกับสามี ลูกสาว และลูกเลี้ยงอย่างมีความสุข
.
แต่เมื่อ 25 ปีก่อน สามีและลูกสาวกลับมาด่วนตายจากไปด้วยโรคมะเร็ง ลูกเลี้ยงของเธอก็ไปมีชีวิตของตัวเองและเพียงแค่ส่งการ์ดอวยพรให้เธอตามเทศกาลเท่านั้น
.
เธอต้องอาศัยอยู่อย่างเดียวดายเพราะเพื่อนสนิทและญาติๆ ของเธอล้วนจากโลกนี้ไปก่อนเธอ เธอคิดว่าการอยู่หรือตายของเธอคงไม่สร้างความแตกต่างให้กับโลกนี้มากนัก
.
เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการสวดมนต์ เขียนเล่าประวัติชีวิตส่วนตัว ดูรูปเก่าๆ และเดินเล่นรอบอพาร์ทเมนท์ เธอจะไปร่วมรับประทานอาหารกับคนชราคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่คนเดียวอาทิตย์ละครั้ง
.
นางอิโตะขอร้องให้เพื่อนบ้านช่วยมองมาที่ม่านหน้าต่างห้องเธอทุกๆ วันว่ายังปิดในตอนกลางคืนและเปิดในตอนกลางวันไหม หากวันใดม่านไม่ได้ปิดเปิดตามเวลา นั่นแปลว่า เธอได้จากโลกนี้ไปแล้ว
.
นางอิโตะยังได้เตรียมป้ายชื่อหลุมฝังศพตัวเอง และเงินทำพิธีเล็กๆ น้อยๆ ไว้พร้อมสำหรับวันที่เธอต้องออกเดินทางสู่อีกโลกหนึ่ง
.
นายคิโนชิตะ อายุ 83 ปี เพื่อนบ้านนางอิโตะได้ย้ายเข้าสู่อพาร์ทเมนท์นี้กว่า 14 ปีมาแล้ว เขาเป็นอดีตวิศวกรใหญ่ แต่บริษัทของเขาถูกฟ้องล้มละลาย ทำให้เขาต้องไปยืมเงินจากพี่น้อง ทำให้ถูกประนามว่า “เป็นความอัปยศของวงศ์ตระกูล”
.
เขาสูญเสียบ้านจากการทำธุรกิจทำให้ภรรยาของเขาบอกเลิกโดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีใครทนอยู่กับสามีที่ขายบ้านตัวเองได้”
.
ความภูมิใจเดียวที่ยังเหลืออยู่ของนายคิโนชิตะ คือเขาเคยเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรีย์ที่มีส่วนสร้างอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ
.
เขายังคงเก็บรูปถ่ายเมื่อครั้งได้ไปเยือนฝรั่งเศสและพวงกุญแจรูปอุโมงค์นั้นยังติดตัวเขาไปไหนมาไหนเสมอๆ ห้องของนายอิโตะเต็มไปด้วยเศษขยะและกลิ่นเหม็นๆ เศษอาหารและของเสียที่หมักหมมมานานหลายปี เขาไม่คิดแม้แต่จะมีป้ายชื่อหลุมศพตัวเอง
.
เพราะเขากล่าวว่า “ถึงจะมีป้ายหลุมศพก็คงไม่มีใครไปเคารพศพเขาอยู่ดี” เขาจึงบริจาคร่างกายให้กับสถาบันการแพทย์
.
เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน ที่มีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวมากถึง 6 ล้านคน และมีมากถึง 12.71 ล้านครอบครัวที่เป็นครอบครัวที่มีแต่ผู้สูงอายุ หรือคู่สามีภรรยาสูงอายุ มากกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นบอกว่ามีความยากลำบากในเรื่องรายได้ เนื่องจากอาศัยเพียงแค่เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพ
.
สาเหตุหลักที่ทำให้มีคนสูงอายุที่ต้องตายอย่างโดดเดียว ได้แก่
.

ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ครองตัวเป็นโสด โดยต้องการมุ่งมั่นทำงานอย่างเดียวโดยไม่คิดมีครอบครัว เมื่อแก่ตัวลงจึงมีแนวโน้มต้องอยู่คนเดียว
.

หลายๆ ครอบครัวตัดสินใจไม่มีลูก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่าย
.

วัฒนธรรมการทำงานตลอดชีพทำให้พนักงานญี่ปุ่นจำนวนมากมีเพียงกลุ่มเพื่อนที่ทำงาน โดยไม่มีสังคมอื่นๆ นอกจากนั้นเลย พอถึงวัยเกษียณจึงเหมือนตัดขาดจากสังคมไปด้วย


ลูกๆ หลายบ้านนิยมอยู่กันเองมากกว่าอยู่ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า และพ่อแม่เองก็กลัวจะเป็นภาระให้ลูกๆ จึงต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่าค่อนข้างต่างจากไทยเรา เพราะคนญี่ปุ่นไม่ได้พูดเรื่องความกตัญญูเด่นชัดนัก
.

คนญี่ปุ่นที่อาศัยในเมืองมักจะไม่ค่อยสนทนากับเพื่อนบ้านอยู่แล้ว คืออยู่แบบตัวใครตัวมัน ทำให้ไม่มีสังคม ชุมชน หรือญาติพี่น้องแบบการอยู่กับครอบครัวใหญ่เหมือนเช่นสังคมชนบท
.
น่าตกใจที่ได้ทราบว่ามีคนแก่ในประเทศญี่ปุ่นที่ต้องตายอย่างเดียวดายโดยไม่มีใครรับรู้มากถึง 30,000 คนต่อปีเลยทีเดียว
.
บทความโดย : พิชชารัศมิ์ 

*******

นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์
ที่ปรึกษาทีมดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สามารถปรึกษาหมอแดงได้ดังนี้

1.ส่งรายละเอียดเข้ามาในกล่องข้อความของเพจหมอแดงที่ปรึกษาคนไข้ระยะท้าย​เพื่อกรอกแบบฟอร์ม จนท.จะต่อสายให้สนทนากับคุณหมอ หรือโทรติดต่อแอดมินเพจ​ 082-424-5363

2. มาพบหมอแดง​ที่คลินิกชีวีอภิบาล​โดยนัดหมายล่วงหน้าที่​ 061 563 2989 หรือ038 933 900 ต่อคลินิกชีวีอภิบาล เพื่อทำนัดพบกับหมอแดง

3.ติดต่อผ่านเยือนเย็นหรือในคนไข้ที่ใช้บริการของเยือนเย็นสามารถขอให้หมอแดงเข้าเยี่ยมพบได้

May 4, 2025

วันฉัตรมงคล 2568 - วันที่ 4 พฤษภาคม

ที่มา https://www.twinkl.com/event/thai-coronation-day-2025

วันฉัตรมงคล (ภาษาอังกฤษ: Coronation Day) คือ วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี หรือพระราชพิธีฉลองพระมหาเศวตฉัตร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จึงมีการกำหนดให้เป็นวันฉัตรมงคล และต่อมาในรัชกาลถือว่าวันนี้เป็นวันฉัตรมงคล

  • เศวตฉัตร หมายถึง ฉัตรขาว อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
  • ฉัตรมงคล อ่านได้ว่า ฉัด-ตระ-มง-คน หรือ ฉัด-มง-คน
  • วันฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม

วันฉัตรมงคลภาษาอังกฤษ

วันฉัตรมงคลภาษาอังกฤษ คือ Coronation Day

กิจกรรมในวันฉัตรมงคล

  1. ประดับธงชาติตามสถานที่ราชการและอาคารบ้านเรือน
  2. ทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
  3. ร่วมพิธีน้อมเกล้าฯ หรือลงนามถวายพระพร

Star Wars Day: May the 4th Be With You



May 3, 2025

3 พฤษภาคม #วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก #WorldPressFreedomDay



.



f       Thai PBS


✒️
 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2534 #องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ #ยูเนสโก #UNESCO ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่ง #องค์การสหประชาชาติ #UnitedNations #UN ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)”
.
🕊️
 เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของ #เสรีภาพสื่อมวลชน ทั่วโลก คือ #เสรีภาพ ในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย เนื่องจากในระยะหลัง มี #นักข่าวภาคสนาม ที่ลงพื้นที่ เสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน ถูกจับเป็นตัวประกัน หรือถูกจับกุม เพิ่มจำนวนมากขึ้น
.
📹
 แม้ว่าการเฉลิมฉลอง “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)” จะเริ่มขึ้นเมื่อปี 2534 แต่เสรีภาพในการแสดงออกนั้น ถูกพูดถึงมาก่อน โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติรับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights)” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในข้อที่ 19 ว่า
.
🪽
 “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”
.
📍
 โดยดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom 2025) จัดทำโดย Reporters Without Borders (RSF) องค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรที่มีพันธกิจในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็น ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 85 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2024 ที่อยู่ในอันดับที่ 87 แต่เมื่อเทียบคะแนนรวมจะพบว่า 58.12 คะแนนของปี 2024 ทำได้ดีกว่า 56.72 คะแนนของปี 2025

May 2, 2025

เปิดตัวตำราภาพ​ 'Atlas of Oral Diseases'​ อัดแน่นความรู้ด้านทันตกรรมต่อยอดการรักษาโรคช่องปาก

 



วันอาทิตย์ ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561




"โรคในช่องปากที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น มะเร็งช่องปากถือเป็น 1 ใน 10 อันดับของมะเร็งที่พบอัตราการเกิดในประชากรโลกมากกว่า 5 แสนรายต่อปี และเป็นสาเหตุให้เกิดการตายมากกว่า 250,000 คนต่อปี จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สำหรับประเทศไทยในปี 2560 พบว่ามะเร็งริมฝีปากและช่องปากติดอันดับที่ 6 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งเพศชาย หากเปรียบเทียบสัดส่วนประชากรเพศชายต่อเพศหญิงพบว่า สัดส่วนเพศชายต่อหญิงเท่ากับ 2:1 ในกลุ่มประชากรที่เป็นมะเร็งดังกล่าว พบอัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 95 ในกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 40 ปี โดยข่าวร้ายที่ควรทราบคือ มักพบผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งในระยะที่ 4 หรือระยะท้าย ๆ ของโรคถึงร้อยละ 46.02 ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตในช่วง 5 ปีน้อยลงอย่างมาก คือหากพบในระยะแรก ๆ จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 และหากพบในระยะท้าย ๆ จะเหลืออัตราเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ซึ่งตำราภาพ Atlas of Oral Diseases จึงถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการค้นคว้าและการรักษาของทันตแพทย์ไทย" รศ.ดร.ทพ.สรสัณห์ กล่าวว่า​

รศ.ดร.ทพ.สรสัณห์ รังสิยานนท์ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์และเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะประธานชมรมวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปากแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ชมรมฯ มีแนวคิดในการยกระดับการทำงานของทันตแพทย์ทั่วประเทศไทยให้เป็นแพทย์ช่องปาก ขยายขอบข่ายการทำงานจากการรักษาฟันไปสู่การรักษาโรคในช่องปาก เช่น มะเร็งในช่องปาก ที่ถือเป็นโรคที่พบมากทั่วโลก โดยพบว่าประเทศ​ไทยมีผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก​ ในผู้ชายเป็นลำดับ 5 และพบในผู้หญิง​เป็นลำดับ 6 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

ล่าสุด​ ได้จัดพิมพ์หนังสือตำราทันตแพทย์​ เพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงที่เป็นประโยชน์สำหรับทันตแททพย์ในประเทศไทย โดยสำนักพิมพ์ Springer Nature Publisher (สำนักพิมพ์สปริงเกอร์เนเจอร์) เจ้าของลิขสิทธิ์ตำราภาพ Atlas of Oral Diseases (ฉบับภาษาไทย) ได้มอบของขวัญให้ชาวไทยโดยมอบลิขสิทธ์ตำราภาพ Atlas of Oral Diseases ที่เขียนโดย Professor Isaac van der Waal (โปรเฟสเซอร์ไอแซค แวนเดอวาล) ให้แก่รองศาสตราจารย์ ดร.ทพ.สรสัณห์ รังสิยานนท์และ อาจารย์ ดร. ทพ.หญิงเปี่ยมกมล วัชโรทยางกูร นักวิชาการทันตแพทย์ไทย​ เพื่อแปลและจำหน่ายเป็นภาษาไทยในราคาที่ไม่แพง จึงเป็นของขวัญอันล้ำค่าต่อแวดวงการศึกษาของทันตแพทย์ไทยและต่อคนไทยทุกคน

เนื่องจากตำราภาพเล่มนี้ประกอบไปด้วยเนื้อหาขั้นสูงสำหรับทันตแพทย์ เพื่อให้มีความชำนาญด้านการวินิจฉัยโรคต่างๆ ในช่องปาก ด้านพยาธิวิทยาการก่อโรค การวินิจฉัยด้วยภาพรังสี และการรักษาด้วยเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งตำราเกี่ยวกับการรักษาโรคในช่องปากนั้นปัจจุบันยังมีผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่ท่านที่ได้สะสมภาพและประสบการณ์การทำงานด้วยตนเองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตำราภาพเล่มนี้จึงจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคในช่องปากได้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น และลดความยากและซับซ้อนในการรักษามากขึ้น

รศ.ดร.ทพ.สรสัณห์ กล่าวอีกว่า ตำราภาพ Atlas of Oral Diseases โดย Professor Isaac van der Waal เป็นตำราที่มีความพิเศษอย่างยิ่ง มีภาพที่สวยงาม ชัดเจน แสดงประกอบคำอธิบายที่กระชับได้ใจความถึงโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคของเนื้อเยื่อหรือกระดูกของช่องปาก เป็นตำราที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์อันยาวนานกว่า 40 ปีของผู้เขียน ทั้งด้านการให้บริการรักษาแก่ผู้ป่วยและงานวิจัย อีกทั้งประสบการณ์การเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดรอยโรคด้วยตนเองร่วมกับการใช้ยารักษาด้วย นับเป็นกรณีที่หาได้ยากในวงการทันตแพทย์ ภาพประกอบที่อยู่ในตำรา เป็นภาพของผู้ป่วยที่ผู้เขียนให้การวินิจฉัยและรักษาจริง จึงเป็นตำราที่มีความน่าเชื่อถือ ประเทศไทยนั้นถือว่ายังเป็นประเทศที่มีจำนวนทันตแพทย์น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

โดยขณะนี้มีคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้งสิ้น 13 คณะ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์จำนวน 11 คณะ ดำเนินงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ และอีก 2 คณะเป็นของภาคเอกชน สามารถผลิตทันตแพทย์ประมาณ 700 คนต่อปี การศึกษาใช้เวลา 6 ปี นักศึกษาที่เข้าศึกษาในคณะทันตแพทยศาสตร์ของรัฐ เมื่อเรียนจบ จะต้องทำการชดใช้สัญญาทุนการศึกษา ด้วยการออกไปปฏิบัติหน้าที่ทันตแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ณ โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐ เป็นเวลา 3 ปี หรืออาจชดใช้ด้วยเงิน กรณีที่ทันตแพทย์ออกไปอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล อาจเป็นเพียงทันตแพทย์คนเดียวของพื้นที่อำเภอนั้น และมักจะได้พบเคสผู้ที่มีรอยโรคต่างๆ ในช่องปาก ที่วินิจฉัยได้ยาก และหากวินิจฉัยช้า เริ่มการรักษาได้ช้า อาจทำให้สูญเสียชีวิตได้ ตำราภาพที่มีรายละเอียดของโรคและภาพประกอบชัดเจนดังเช่น Atlas of Oral Diseases จะช่วยเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นให้กับทันตแพทย์ได้อย่างดี

"โรคในช่องปากที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น มะเร็งช่องปากถือเป็น 1 ใน 10 อันดับของมะเร็งที่พบอัตราการเกิดในประชากรโลกมากกว่า 5 แสนรายต่อปี และเป็นสาเหตุให้เกิดการตายมากกว่า 250,000 คนต่อปี จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สำหรับประเทศไทยในปี 2560 พบว่ามะเร็งริมฝีปากและช่องปากติดอันดับที่ 6 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งเพศชาย หากเปรียบเทียบสัดส่วนประชากรเพศชายต่อเพศหญิงพบว่า สัดส่วนเพศชายต่อหญิงเท่ากับ 2:1 ในกลุ่มประชากรที่เป็นมะเร็งดังกล่าว พบอัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 95 ในกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 40 ปี โดยข่าวร้ายที่ควรทราบคือ มักพบผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งในระยะที่ 4 หรือระยะท้าย ๆ ของโรคถึงร้อยละ 46.02 ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตในช่วง 5 ปีน้อยลงอย่างมาก คือหากพบในระยะแรก ๆ จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 และหากพบในระยะท้าย ๆ จะเหลืออัตราเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ซึ่งตำราภาพ Atlas of Oral Diseases จึงถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการค้นคว้าและการรักษาของทันตแพทย์ไทย" รศ.ดร.ทพ.สรสัณห์ กล่าว