Custom Search

Jan 26, 2011

บัณฑูร ล่ำซำ เมื่อเจ้าสัวทำโรงแรมน่าน..."ผมอยากทำธุรกิจเล็กๆน่ารัก"



มติชน
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554


http://teetwo.blogspot.com/2010/02/blog-post_25.html

หากพูดถึงบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ธนาคารกสิกรไทย หลายคนคงจะนึกถึงภาพของเจ้าสัวใหญ่
ที่ปลุกปั้นธนาคารกสิกรไทย จนในปีที่ผ่านมา ปี 2553
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิถึง 20,047 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 14,733 ล้านบาท
คิดเป็น 36.07%


นี่คือหมวกใบหนึ่งที่เจ้าสัวผู้นี้สวมใส่อยู่
แต่อีกมุมหนึ่งของบัณฑูร ล่ำซำ
ในตอนนี้เขาเพิ่งเปิดบริษัทส่วนตัวขนาดย่อมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ
ธนาคารกสิกรไทย บริษัทนี้มีชื่อว่า บริษัท เครือพูคา จำกัด
เป็นบริษัทที่เจ้าสัวแบ๊งค์ตั้งใจเปิดขึ้นเพื่อทำธุรกิจในจังหวัดน่าน
โดยเริ่มต้นจากการสร้าง "โรงแรมพูคาน่านฟ้า"
โรงแรมหรูขนาด 14 ห้องกลางเมืองน่านเป็นโครงการแรก


บัณฑูร ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เครือพูคา จำกัด
ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้งบริษัทนี้ว่า
"ประเด็นที่ผมเลือกที่จะมาทำธุรกิจที่จังหวัดน่านก็คือ
ผมชอบเมืองนี้ ย้อนกลับไปเมื่อสักปีครึ่งมาแล้ว
ผมมาเปิดห้องสมุดธนาคารความรู้
ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารกสิกรไทยตั้งใจจะทำไปในทุกจังหวัดในประเทศไทย
ก็มาเริ่มทำที่เมืองน่านเป็นที่แรก
ตอนนั้นก็ได้มาที่น่าน ก็ไม่ถือว่าเป็นครั้งแรกในชีวิต
แต่ถือว่าเป็นครั้งแรกในเวลาที่นานมากที่มาสัมผัส
การมาน่านในรอบนั้น ผมรู้สึกว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่สะอาด สงบ
เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเรามีอะไรทำสักหน่อยดีไหม คิดไปคิดมา
ธุรกิจที่จะพอเป็นไปได้คือ ธุรกิจโรงแรม เป็นโรงแรมเล็กๆ
ก็มีคนบอกว่า มีโรงแรมไม้อยู่ตรงกลางเมือง
เห็นเจ้าของเก่าเขาทำไม่ไหวแล้ว เลยมาดู
ก็ไปทาบทามเจ้าของโรงแรม เจ้าของก็อายุมากแล้ว
ไม่อยากรับภาระนี้ ก็ส่งต่อมา
เลยกลายเป็น โรงแรมพูคาน่านฟ้า"


ความหลงไหลในเมืองน่านถึงกับทำให้ในตอนนี้
ชื่อของบัณฑูร ล่ำซำ อยู่ในทะเบียนสำมะโนครัวของจังหวัดน่านไปแล้ว


"แต่ก่อนผมเป็นคนชลบุรี ตอนนี้ผมเป็นคนน่านอพยพแล้วครับ(หัวเราะ)
มีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นน่าน
เป็นคนน่านมาสักครึ่งปีแล้ว เลือกตั้งก็ต้องมาเลือกที่นี่นะเนี่ย
ผมมองว่า เมืองน่านมีเสน่ห์ เสน่ห์เมืองน่านอย่างหนึ่งคือ
ความเงียบ คือ สองทุ่มก็เงียบแล้ว ไม่ได้มีเสียงของดิสโก้อะไร
อย่างที่สองคือ สะอาด บ้านเมืองเรียบร้อย
ไม่มีน้ำเสียขังตามพื้น ไม่มีมูลสุนัข
แล้วก็มีธรรมชาติสีเขียวเยอะมาก ถ้ามองจากเรือบิน
จะเห็นว่าข้างล่างมีสีเขียว เป็นป่า
พอเลยจากจังหวัดน่านไปก็จะไม่เป็นป่าอย่างนั้นอีกแล้ว
มีความประทับใจในเรื่องนี้ แล้วไปทางวัดวาอารามเยอะมาก
เป็นวัดวาอารามที่สงบ พระปฏิบัติดี"


สำหรับลักษณะของโรงแรม เจ้าสัวเล่าให้ฟังว่า
ก่อนหน้านี้เป็นโรงแรมไม้อายุ 50 ปี
อยู่ในสภาพที่โทรมมาก การปรับปรุงโรงแรมยังคงโครงสร้างอาคารแบบเดิมพอ
เปลี่ยนแต่เปลี่ยนแปลงภายในอย่างเช่น ประตู หน้าตา ผนัง
โดยให้คงความเป็นวัฒนธรรมลานนาให้มากที่สุด
ตอนนี้ กระบวนการสร้าง เสร็จไปประมาณ 99.99 % แล้ว
แต่ระบบการจองโรงแรม ระบบเงิน
ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง เปิดจริงคงจะประมาณอีกสองเดือน


"โรงแรมนี้ เบ็ดเสร็จทั้งซื้อทั้งแต่งโรงแรมรวมกันก็ประมาณ 50 ล้านบาท
พอซื้อแล้วก็กลัวคนคิดว่าทางแบ๊งก์มาซื้อเอง
ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด อีกอย่างหนึ่งคือ คนกลัวว่าจะทุบทิ้ง
เพราะเป็นที่กลางเมือง จะเอาไปทำเป็นตึกหรืออาคารพานิชย์ไป
ซึ่งไม่เคยอยู่ในความคิดเลย คือ
ตั้งใจจะอนุรักษ์ไว้อย่างเดิมแล้วตั้งใจทำให้ดี
ตั้งใจให้เป็นทัวร์ทางวัฒนธรรม
พอมาพักแล้วได้สัมผัสกับบรรยากาศความเป็นล้านนา"


ท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวในเมืองน่าน
จะทำให้เมืองนี้บอบช้ำแบบเมืองท่องเที่ยวอื่นหรือไม่?
บัณฑูรเห็นว่า "อันนี้อยู่ที่ชาวเมืองน่าน
อย่างจะสร้างอะไร เขามีกติกากำกับนะ
อย่างจะสร้างตึกระฟ้า เขาก็ไม่รับ ถ้าเขาไม่ยอม
มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เท่าที่สัมผัสดู เขาก็ไม่ยอม
ถ้าไม่ยอมซะอย่าง ใครจะมาทำอย่างนั้น ก็กลายเป็นว่า
ไปฝืนวัฒนธรรม ไปฝืนจิตใจของคนเมืองน่าน
มันก็จะไม่ดี อยากที่นี่ให้สงบอย่างนี้ นี่อีกสองปี
ที่คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด กับนายกเทศมนตรี
ก็ยืนยันว่า สายไฟบนถนนหน้าโรงแรมเส้นนี้
อีกสองปีจะลงดิน มีงบประมาณกันไว้ชัดเจนแล้ว
แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น ที่คุยกันก็คือ
จะทำทั้งเมือง มันก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์มาก
ถ้าจะมีใครทำได้ ก็จะมีเมืองน่านเท่านั้นที่ทำได้
เพราะว่าหนึ่ง เมืองยังเล็กอยู่ ถ้าใหญ่เกินไปทำไม่ไหวหรอก
อย่างที่สองก็คือ เขาก็อยากจะทำอย่างนั้น"


เจ้าสัวย้ำว่า การสร้างโรงแรมพูคาน่านฟ้า
ไม่ใช่การกระโดดเข้ามาทำธุรกิจโรงแรมอย่างจริงจัง
"ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า ผมไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจโรงแรม
เพียงแต่ผมอยากทำธุรกิจเล็กๆน่ารักที่จังหวัดน่าน
โรงแรมพูคาน่านฟ้าที่ทำอยู่ ก็ไม่ใช่โรงแรมใหญ่
มีเพียง 14 ห้อง ผมอยากให้มองว่านี่เป็นการลงทุนเชิงวัฒนธรรม
เป็นการลงทุนเพื่อรักษาของเก่าอันเป็น
ความภูมิใจของชาวน่านในเรื่องวัฒนธรรม ลานนา
เป็นส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวในเมืองน่าน
ที่นับวันน่าจะสนใจยิ่งขึ้น ยี่ห้อของน่านเริ่มติดตลาด
เป็นความท้าทายของคนเมืองน่านที่จะรักษาสิ่งเดิมๆไว้
แต่ก็ยังสามารถพัฒนาทาง เศรษฐกิจได้ เท่าที่คุยดู
คนเมืองน่านก็อยากให้เป็นแบบนั้น"