Custom Search

Aug 19, 2006

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

ช่างเขียนรูป ผู้ทำงานเพื่อชีวิตอันเป็นสุข
ผมเป็นเพียงแค่คนเขียนรูปธรรมดาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมโลก เป็นส่วนเล็กๆ ของผู้สร้างสรรค์จรรโลงโลก ร่วมกับเพื่อนต่างอาชีพที่ต่างก็มีความสำคัญต่อผืนแผ่นดินเช่นกัน

คำกล่าวนี้ออกมาจากใจ
และความคิดที่ได้ประมวลมาจากประสบการณ์อันยาวนานของ

ผู้ที่เรียกตัวเองว่าช่างเขียนรูป ….เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
จิตรกรผู้ละอายที่จะบอกว่าตนเองประสบความสำเร็จทุกอย่างในชีวิตแล้ว
เพราะเขาได้ค้นพบสัจธรรมว่าที่แท้แล้ว
หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่นำมาซึ่งการค้นพบ
ว่าชีวิตที่ประสบความสุขและความสำเร็จนั้นมาจากธรรมะประการเดียว และเขากำลังอุทิศทั้งชีวิตเพื่อตระเตรียมสัมภาระทางจิต ในการลดชาติภพ
เพื่อชดใช้กรรมต่างๆโดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางเพื่อการสรรเสริญและทำงานเพื่อ

พระพุทธศาสนาเท่านั้น


ในวันที่ได้พบพูดคุยกับคุณเฉลิมชัยที่วัดร่องขุ่นจังหวัดเชียงรายนั้น

คุณเฉลิมชัยแต่งกายเรียบง่ายแบบชาวเหนือ ใส่กางเกงม่อฮ่อมและสะพายย่าม

ใบหน้าแววตาดูสดใส ดูคล้ายกับคนที่มีพร้อมแล้วซึ่งทุกอย่างในชีวิต

ทั้งหน้าที่การงาน ชื่อเสียง และชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข

รวมทั้งการได้ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา

ที่เขายึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิตอย่างหนักแน่นมาโดยตลอด

เป็นชีวิตอีกรูปแบบที่คนทำงานออฟฟิศหรืองานบริษัททั่วๆ ไปอาจจะไม่คุ้นเคยนัก

เป็นชีวิตของศิลปินแท้ๆ
คนหนึ่งที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยเป็นจิตรกรเพียงอย่างเดียวและโดยเด็ดเดี่ยว

ชีวิตวัยเด็กผมต่อสู้ดิ้นรนมามากเหลือเกิน กว่าจะมีวันนี้ได้
ผมต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ความกดดันต่างๆ

แต่ผมไม่ค่อยยอมแพ้อะไรนะ ก็ก้าวเดิน
ก้าวผ่านสู่จุดต่างๆของชีวิตมาอย่างทะนงองอาจ ...
ถ้าจะถามว่าผมคิดว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า ผมจะถามว่า
ความสำเร็จของคนจะวัดจากตรงไหน ถ้าจะเอาเกณฑ์ที่เรามีความสุขอย่างแท้จริง

ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนแข่งขัน มีปัจจัยการครองชีพพอสมควร
ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร ชีวิตได้ทำงานให้กับสังคม ทดแทนคุณแผ่นดินบ้างผมก็คิดว่าผมอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีก้าวต่อไปอีก ซึ่งจะเป็นการก้าวไปสู่ความสุขสงบอันถาวรแล้ว
บางคนอาจจะมองว่าความสุขความสำเร็จของเขาคือมีเงินทอง มีชื่อเสียงให้มาก

มากจนเกินพอ หรือเรียกว่ารวยไม่เสร็จ แต่ผมกลับมองว่าเขาได้หาความทุกข์ให้ตนเอง

มองลึกๆ สิครับ ชั่วชีวิตคนเราทุกคนก็เดินไปสู่ความตายเป็นท้ายสุดทั้งนั้น
ตอนเดินไปนี่คุณจะสร้างสมอะไรไว้ จะให้คนไหว้ด้วยใจหรือไหว้เพียงเป็นธรรมเนียม

ทั้งๆ ที่ใจไม่รู้สึกอยากไหว้ไอ้หมอนี่เลย

แถมตอนตายคนมาไหว้ศพก็โล่งอก..เฮ้อ..ไปเสียได้ อะไรทำนองนี้


ผมเน้นนะครับว่าความสุขของคนเรานั้น อยู่ที่ความพอใจ
และถ้าคุณได้ศึกษาธรรมะจริงๆ แล้ว

จะด้วยการศึกษาด้วยตนเองหรือการมีผู้ชี้แนวทางให้ก็ตาม

คุณก็จะได้รู้ว่าศาสนาพุทธให้อะไรคุณมากเหลือเกิน

ผมเปลี่ยนชีวิตตัวเองเพราะศาสนาทั้งสิ้น พูดได้เลยจากคนที่รุนแรงก้าวร้าว

เอาเรื่อง ขี้อิจฉา ผลเปลี่ยนมาเป็นตรงข้าม แผ่เมตตาเป็น รู้จักที่จะให้

รู้จักที่จะทำเพื่อคนอื่น เพื่อสังคมบ้าง

เส้นทางการงานที่ผ่านมา คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนัก
หากจะกล่าวว่าในปัจจุบันคุณเฉลิมชัยถือเป็นจิตรกรอันดับต้นๆ ของประเทศคนหนึ่ง

แต่เพื่อเป็นการยืนยันหากลองดูประวัติและผลงานที่ผ่านมาของคุณเฉลิมชัยก็สามารถไล่เรียงมาได้ดังนี้


คุณเฉลิมชัยจบการศึกษาระดับปวช. จากโรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพฯ
เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเป็นศิลปบัณฑิตศิลป์ไทยรุ่นแรก

จากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ยึดอาชีพเป็นจิตรกรอิสระมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี
2522
เป็นต้นมา

ในชีวิตการงานที่ผ่านมา คุณเฉลิมชัยเคยได้รับรางวัลจากการประกวดระดับประเทศและได้รับการเชิดชูเกียรติยศมากมาย ซึ่งหากจะไล่เรียงมาก็จะได้ดังนี้
พ.ศ. 2520 – รางวัลที่ 1 เหรียญทอง จากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 3
พ.ศ. 2521 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่
25
พ.ศ. 2522 – รางวัลที่ 2 เหรียญเงิน จากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่
4
ของธนาคารกรุงเทพ

จนนับแต่นั้น ท่านก็ไม่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดที่สถาบันใดอีกเลยแต่ก็ยังได้รับ
การเชิดชูเกียรติอีกหลายครั้ง
พ.ศ. 2536 – ได้รับเครื่องหมายเกียรติคุณบุคคลตัวอย่างผู้สร้างเสริมงานวัฒนธรรม
ด้านจิตรกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2537 – ได้รับโล่เชิดชูเกียรติเพชรสยาม สาขาจิตรกรรม
จากสถาบันราชภัฏจันทรเกษม
พ.ศ. 2539 – ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ให้เขียนภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก
และออกแบบเหรียญพระราชทานคณะแพทย์
พ.ศ. 2543 – ที่ปรึกษากรมศิลปากรงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน
ในพระบรมมหาราชวัง
นอกจากนี้คุณเฉลิมชัยยังเป็นที่ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย
ในงานออกแบบธนบัตรราชาภิเษกสมรส ครบรอบ 50 ปี

และยังมีโอกาสถวายการสอนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์อีกด้วย


วันนี้ของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
กับวัดร่องขุ่น (ปีพ.ศ.2531 หลังจากกลับมาจากประเทศอังกฤษ คุณเฉลิมชัยและเพื่อนไปร่วมกันวาดรูปจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธปทีปถวายเป็นพุทธบูชาโดยไม่คิดค่าจ้าง)
คุณเฉลิมชัยกลับมาถึงประเทศไทยด้วยเงิน
ที่เหลือติดตัวเพียง 4,000 บาท เขาได้มีโอกาสเดินทางกลับไปที่เชียงรายบ้านเกิด และได้พบเห็นภาพของโบสถ์วัดร่องขุ่นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม จึงรู้สึกแปลกใจว่าทำไมถึงไม่มีใครมาสนใจบูรณะวัดแห่งนี้เลย

ตอนนั้นที่เห็นรู้สึกสะเทือนใจมาก ผมก็ก้มลงกราบหลวงพ่อหินองค์ประธานเลย พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานสาบานเลยว่า ผมอยากสร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่ แต่ตอนนี้ผมไม่มีเงิน เอาไว้ผมมีเงินเมื่อไหร่ ผมจะกลับมาสร้างวัดนี้ให้ได้ครับ
จนปลายปี 2540 คุณเฉลิมชัยก็กลับบ้านเกิดที่เชียงรายอีกครั้ง
เพื่อทำคำสาบานของเขาให้เป็นจริง
ความต้องการอย่างแรกของผมก็คือ ผมอยากให้วัดนี้เป็นสัญลักษณ์ของคนที่ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ต่อพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง คือต้องการทำถวายพระพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า
อย่างที่สองก็คือ ผมต้องการให้มีวัดที่เป็นศิลปะประจำรัชกาลที่เก้า

เพราะในหลวงท่านตรัสเสมอว่า
วัดวาอารามที่มีอยู่ล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่งบอกถึงศิลปะประจำรัชกาลนั้นๆ ผมจึงอยากจะทำให้เป็นงานศิลปะประจำรัชกาลที่ 9 ของภาคเหนือ
ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนไม่เหมือนใคร และจะต้องถวายพระองค์ให้ทันฉลองครบ 80 พรรษา


วัดนี้จะต้องเป็นวัดที่สร้างเพื่อแสดงศรัทธาทุกอย่างของตัวผมเอง เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หาได้ในชีวิตจะมาทำวัดนี้ให้เสร็จให้ได้ และจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตที่จะอุทิศทำเพื่อแผ่นดิน แนวคิดการสร้างวัดแห่งนี้คือต้องการสร้างแดนพุทธภูมิ เป็นเสมือนวิมานบนสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นงานศิลปะที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ผมไม่ใช้สีทองหรือสีอื่นมาทาเลย
บรรยากาศภายนอกวัดทั้งหมดต้องเป็นสีขาวและประดับด้วยกระจกขาว

เพราะเวลาเจอกับแสงมันจะส่องเป็นประกายสีเงิน ถ้าหากเอาสีทองมาตกแต่ง

สัญลักษณ์ของสีทองซึ่งหมายถึงความร่ำรวยเปล่งปลั่ง จะบดบังศรัทธา

ผมสร้างโบสถ์นี้ด้วยนิมิตรทั้งสิ้น ไม่มีแบบแปลนเลย ใช้วิธีชี้เอาเลยว่าจะเอาแบบนี้

สร้างไปโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่สร้างมันมีความหมายอย่างไร
ส่วนทุนรอนทั้งหลาย ผมเริ่มต้นจากเงินสะสมของผมทั้งหมด ตอนหลังๆ
มีผู้คนเริ่มมองเห็นถึงความตั้งใจ อยากร่วมทำบุญด้วยก็ค่อยๆ มาสมทบทุน จริงๆ

แล้วผมไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่ศรัทธาก็เป็นเรื่องที่เราขัดไม่ได้นะ

และผมก็พยายามหาทุนรอนต่างๆ จากการขายภาพเขียนผลงานต่างๆ บ้าง

และงานที่จะต้องทำที่วัดนี้ก็มีอีกมหาศาล คิดว่าอีก 4 ปีจะเสร็จหรือเปล่า

ผมก็ยังไม่รู้


วันพรุ่งนี้ของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สิ่งที่ผมอยากฝากเอาไว้ก็คือ
"ผมอยากเห็นบ้านเมืองไทยเรามีคนที่รักชาติอย่างจริงใจทำอะไรโดย
คิดถึงส่วนรวมเป็นหลักมากขึ้น
ความเห็นแก่ตัวรักพวกรักพ้องให้ลดน้อยลง
ทำอะไรก็นึกถึงการทดแทนคุณแผ่นดินบ้าง
ถ้าเราตระหนักว่า ไม่กอบโกย ทำอะไรโดยมีศีลธรรมเป็นหลัก
ก็จะทำให้เกิดความรุ่งเรืองให้แก่แผ่นดินได้
อย่างตอนนี้ชีวิตการทำงานของผม ที่ผมกำลังทำ
กำลังสร้างวัดร่องขุนที่เชียงรายนี่ ก็ด้วยความคิดที่อยากจะทำ
ศิลป์ศาสนาอันเป็นเอกลักษณ์ในรัชกาลที่9
ถวายแด่พระพุทธเจ้า ศาสนาพุทธ ต่อราชวงศ์จักรี
และทดแทนแผ่นดินเกิดของผม อยากให้เป็นสถานที่
ที่เราจะได้ประยุกต์ศาสนากับความงามด้านวิจิตรศิลป์และ
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไว้ด้วยกัน
เป็นสถานที่ที่น่าชมแห่งหนึ่งของเชียงราย...
ผมขอเป็นเพียงแค่คนเขียนรูปรับใช้พระพุทธศาสนาไปจนวันตาย
จะไม่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ ชื่อเสียง
หรือการดูถูกเหยียดหยามจากวงการศิลปะว่าล้าหลังไม่พัฒนาก็ตาม

งานที่เหลืออยู่เป็นการเขียนเพื่อสนองความสุขของตัวเอง
เพื่อรอว่าเมื่อไหร่จะดับสูญ ไม่มีอะไรพิเศษอีกแล้ว

ผมเชื่อว่าต่อไปนี้ก็คงมีคนคิดว่า ผมเขียนแต่งานที่ซ้ำซาก

ดูไม่มีจินตนาการแล้ว
ซึ่งมันก็ถูกของเขา เพราะผมไม่สนใจอะไรอีกแล้ว
 
มีเพียงความสุขและความรู้สึกที่อยู่เหนือสิ่งนั้น 
ดังนั้นไม่ต้องมารอคอยที่จะเห็นความยิ่งใหญ่ของเฉลิมชัยอีกแล้ว"

ความสุขในการใช้ชีวิตและหน้าที่การงานนั้น
สำหรับบางคนอาจไม่ได้หมายถึงความร่ำรวยหรือชื่อเสียงเหมือนกับคนทั่วไปเท่านั้น
แต่อาจหมายถึงการได้ค้นพบตัวตนและความต้องการอันแท้จริงของตัวเองก็ได้ อย่างที่คุณเฉลิมชันเคยบอกกับเราไว้เสมอๆ ว่า"ผมเป็นเพียงแค่คนเขียนรูปธรรมดาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมโลก เป็นส่วนเล็กๆของผู้สร้างสรรค์จรรโลงโลก ร่วมกับเพื่อนต่างอาชีพ ที่ต่างก็มีความสำคัญต่อผืนแผ่นดินเช่นกัน"



For education :